สถาบันการเงินที่มีนัยสำคัญต่อระบบการเงินโลก (G-SIBs) ตอนที่ 1

ถ้าพูดถึงสถาบันการเงินที่มีนัยสำคัญต่อระบบการเงินโลก (Global Systemically Important Banks หรือ G-SIBs) หลายท่านคงจะสงสัยว่าจริง ๆ แล้วสถาบันการเงินประเภทนี้คืออะไร และหน้าตาเป็นอย่างไร

ก่อนอื่น ขอให้ท่านนึกถึงร่างกายของเราซึ่งประกอบด้วยอวัยวะหลาย ๆ ส่วน อย่างไรก็ดี ในร่างกายเรามีอวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ตับ ซึ่งหากเริ่มเสื่อมโทรมหรือมีปัญหา ก็จะต้องพบกับโรคต่าง ๆ มากมายที่รักษาไม่หาย หรือส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะส่วนอื่น หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สถาบันการเงินก็เช่นกัน หากสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจมีปัญหาหรือล้มลง ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกับตัวสถาบันการเงินดังกล่าวเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างถึงสถาบันการเงินอื่น ๆ และอาจลุกลามไปจนถึงระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวมเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ Lehman Brothers สถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาประกาศล้มละลาย ส่งผลให้ตลาด Dow Jones ผันผวนอย่างมาก พร้อมกับต้นทุนการกู้ยืมที่ขยับขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ก่อให้เกิดวิกฤตซับไพร์มอันเลื่องชื่อ

ด้วยเหตุนี้ เพื่อลดโอกาสการล้มละลายของสถาบันการเงินที่มีนัยสำคัญต่อระบบ การดูแลสถาบันการเงินที่เข้าข่ายเป็น G-SIBs จึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องติดตามดูแลอย่างเข้มงวด ซึ่ง Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) ได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เป็น G-SIBs ซึ่งการกำกับดูแลจะมีความแตกต่างไปจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ทั่วไป อาทิเช่น

ZxAAAAAElFTkSuQmCC

  1. การดำรงระดับเงินกองทุนส่วนเพิ่ม (Higher capital buffer) คือ การกำหนดระดับเงินกองทุนที่สถาบันการเงินที่เป็น G-SIBs ต้องดำรงในอัตราที่สูงกว่าธนาคารอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งอัตราเงินกองทุนส่วนเพิ่มที่ต้องดำรงส่วนมากจะอยู่ในระดับ 1.0% - 3.5%
  2. การเพิ่มความสามารถในการรองรับความสูญเสีย (Total Loss-Absorbing Capacity หรือ TLAC) คือ การดำรงสินทรัพย์เพิ่มเติมนอกเหนือจากระดับเงินกองทุนส่วนเพิ่มที่กำหนด เพื่อใช้รองรับการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินโดยให้กระทบต่อภาระของภาครัฐหรือผู้เสียภาษีน้อยที่สุด ซึ่งจะกำหนดการดำรงสินทรัพย์เพิ่มเติมเป็นสัดส่วนต่อสินทรัพย์เสี่ยง
  3.  การเตรียมแผนรองรับกรณีเกิดปัญหา (Resolvability) คือ การทำแผนแก้ไขสถาบันการเงินหรือแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินกรณีประสบปัญหา (Resolution/ Recovery) และทำการประเมินแผนอย่างสม่ำเสมอ
  4. การกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น (Higher supervisory expectations) ครอบคลุมการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้นสำหรับความเสี่ยงในเชิงการบริหารจัดการ การรวบรวมข้อมูล ธรรมาภิบาลและการควบคุมภายใน

ทั้งนี้ สถาบันการเงินใดเข้าข่ายเป็น G-SIBs หรือไม่ สามารถพิจารณาได้จากเกณฑ์ที่ BCBS กำหนดไว้เบื้องต้น ดังนี้

Z94u14m1j+GQAAAAABJRU5ErkJggg==

  1. ปริมาณธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-jurisdictional activity)
  2. ขนาดของสถาบันการเงิน (Size)
  3. ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถาบันการเงินอื่น (Interconnectedness)
  4. การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญ (Substitutability/financial institution infrastructure)
  5. ความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Complexity)

สำหรับบทความฉบับต่อไป ผู้เขียนจะเปิดเผยรายชื่อของสถาบันการเงินที่จัดอยู่ในกลุ่ม G-SIBs

 


โดย: ฝ่ายวิเคราะห์สถาบันการเงิน

ปรับปรุงล่าสุด 28 ก.พ. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม