สถานการณ์ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank (SB) ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

จุดเริ่มต้น Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank (SB)

Silicon Valley Bank (SVB) ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 โดยมีชื่อมาจากย่านที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากอย่าง Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลกเทคโนโลยีชั้นสูง และนวัตกรรมส่วนใหญ่ของโลก และยังเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple เป็นต้น SVB เป็นสถาบันการเงินที่ร่วมทุนและลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า Venture Capital (VC) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยี ในปี 2565 SVB ถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทปล่อยกู้ที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 16 ในสหรัฐอเมริกา โดยมีสินทรัพย์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ประมาณ 211.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนเงินฝากส่วนที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง (uninsured deposits) คิดเป็นร้อยละ 94 ของจำนวนเงินฝากทั้งหมด

Signature Bank (SB) เริ่มดำเนินกิจการในปี 2544 โดยแต่เดิมมุ่งเน้นในธุรกิจ Private Banking สำหรับกลุ่มลูกค้าตลาดกลางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานกฎหมาย และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยนับแต่ปี 2562 SB ได้ขยายการดำเนินธุรกิจเข้าไปสู่อุตสาหกรรมด้านสินทรัพย์ดิจิทัล จนกลายเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินหลักที่ปล่อยกู้ให้แก่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งมีสัดส่วนเงินฝากกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มลูกค้าจากอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นนัยสำคัญ โดยเงินฝากจากกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเติบโตในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 263 ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และตามข้อมูลจากหน่วยงานกำกับด้านการเงินแห่งรัฐนิวยอร์ก (New York state's Department of Financial Services) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ระบุว่า SB มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 110,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นเงินฝาก 88,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรณีปัญหาของ Silicon Valley Bank (SVB): ขาดสภาพคล่องจากการบริหารอัตราดอกเบี้ยที่ผิดพลาด (Duration Mismatch)

กรณีของ SVB พบว่า สถาบันการเงิน (สง.) ดังกล่าวประสบปัญหาปริมาณเงินฝากลดลงต่อเนื่องตลอดปี 2565 อันเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางประเทศสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเชิงรุก บริษัทเทคโนโลยีจึงต้องถอนเงินที่ฝากไว้กับ SVB เพื่อใช้ในธุรกิจ และบางกลุ่มถอนเงินฝากเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า โดยข้อมูลจากรายงานทางการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ของ SVB พบว่า สัดส่วนของเงินฝากมีการกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีประเภท Early stage technology และ Technology คิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 51 ของเงินฝากทั้งหมด นอกจากนี้ SVB ยังมีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด ในปี 2563-2564 ซึ่งเป็นยุคดอกเบี้ยต่ำ และ SVB นำเงินฝากจำนวนมากไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนคงที่

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SVB ได้ขายหุ้น SVB มูลค่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2566 บริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของ SVB จาก “stable” สู่ “negative” นอกจากนี้ การถอนเงินของกลุ่มลูกค้าหลักจำนวนมาก ทำให้ SVB ขาดสภาพคล่อง ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระเงินฝากลูกค้า SVB จึงจำเป็นต้องขายขาดทุนพอร์ตพันธบัตรระยะยาว ออกไปจำนวน 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ซึ่งเงินสำรองของ SVB จำนวนมากอยู่ในพันธบัตรระยะยาว) พร้อมประกาศแผนขายหุ้นเพิ่มทุน และรับรู้ผลขาดทุนจริงทันที 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงานของ SVB อีกทั้ง ผลขาดทุนยังส่งผลให้ส่วนทุนของ SVB ลดลง SVB จึงจำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก 2.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการประกาศขายหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพ แต่แผนการเพิ่มทุนดังกล่าวไม่สำเร็จ

จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ SVB ลดลงอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (SEC) จึงสั่งหยุดการซื้อขายหุ้น ทั้งนี้ ผลกระทบจากผลการขาดทุนจำนวนสูงจากการขายพันธบัตร และการถูกปรับลดความน่าเชื่อถือโดยบริษัท Moody’s ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Bank Run และนำไปสู่การประกาศเพิกถอนใบอนุญาต SVB ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 โดยสินทรัพย์และเงินฝากของ SVB ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสถาบันประกันเงินฝากประเทศสหรัฐอเมริกา (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC)

กรณีปัญหาของ Signature Bank (SB): ขาดสภาพคล่องจากแนวโน้มของตลาด Cryptocurrency และปัญหาเกิดจากทั้งเรื่องของธรรมมาภิบาล (Governance) และภาพรวมของอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง

ผลกระทบจากการปิด SVB ได้ลุกลามสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Cryptocurrency และส่งผลกระทบลุกลามมายัง SB ซึ่งเป็น สง. รายใหญ่ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Cryptocurrency โดยกลุ่มบริษัทดังกล่าวได้รับผลกระทบจากราคา Cryptocurrency ที่ลดลง และมีสัญญาณการไหลออกของเงินฝาก อนึ่ง SB ไม่มีกลไกในการเสริมสภาพคล่องและการรองรับการขาดสภาพคล่อง อีกทั้ง การบริหารจัดการของ สง. ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ที่เน้นการเติบโตอย่างรวดเร็ว (aggressive growth) มากกว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม มีการกระจุกตัวของเงินฝากส่วนที่เกินวงเงินโดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 72 ของสินทรัพย์ทั้งหมด[1] ขณะที่ประเภทของเงินฝากส่วนใหญ่จะเป็นเงินฝากจากลูกค้ากลุ่มธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 16 ของสินทรัพย์ทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดความเสี่ยงเชิงระบบ SB จึงได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ในวันที่ 12 มีนาคม 2566 และมีการเข้าควบคุมโดย FDIC พร้อมจัดตั้ง Signature Bridge Bank N.A. ในการแก้ไขปัญหา

 

มาตรการในการแก้ไขปัญหาโดย FDIC กรณีปัญหาของ SVB

หลังจาก SVB ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 FDIC ได้รับการแต่งตั้งเป็น Receiver และได้จัดตั้งDeposit Insurance National Bank of Santa Clara (DINB) เพื่อรับโอนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้วงเงินคุ้มครอง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ของผู้ฝากเงินของ SVB และ FDIC ยังได้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากมูลค่าสูงกว่าวงเงินคุ้มครองตามกฎหมาย โดยกำหนดให้มีการจ่าย advance dividend ให้แก่ผู้ฝากเงินภายในสัปดาห์ถัดไป โดยจะออกเอกสารรับรองเป็น Receivership Certificate ให้แก่ผู้ฝากเงิน ในวันที่ 12 มีนาคม 2566 Fed กระทรวงการคลัง (Treasury Department) และ FDIC ได้ประกาศมาตรการรองรับกรณีระบบ สง. ประสบปัญหาสภาพคล่องBank Term Funding และมาตรการคุ้มครองผู้ฝากเงินทุกรายเต็มจำนวนโดยผู้ฝากสามารถเข้าถึงเงินฝากได้ในวันที่ 13 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ตามมาตรการ Systemic Risk Exception[2] เพื่อเสริมสร้างความเชี่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินสหรัฐฯ ป้องกันการเกิดปัญหาลุกลามเป็นวงกว้างจนกระทบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในวันที่ 13 มีนาคม 2566 FDIC ยังได้มีการจัดตั้ง Bridge Bank [3] ซึ่งดำเนินการโดย FDIC คือ Silicon Valley Bridge Bank, N.A., เพื่อรับโอนเงินฝากทั้งหมดจาก SVB โดยเปิดให้บริการในวันที่ 13 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ Silicon Valley Bridge Bank, N.A., ให้บริการผู้ฝากเงินและลูกหนี้ของ SVB ให้สามารถดำเนินธุรกรรม ดังนี้ 1) การให้บริการ Online Banking 2) ATM 3) บัตรเดบิต 4) เช็ค 5) ชำระสินเชื่อ

วันที่ 14 มีนาคม 2566 มีการประกาศจาก CEO คนใหม่ Tim Mayopoulos ที่ได้ส่งจดหมายถึงลูกค้าเก่าว่าได้เปิดทำการธนาคารตามปกติ โดยทาง FDIC ได้โยกย้ายทรัพย์สินและเงินฝากจาก SVB ไปที่ Silicon Valley Bridge Bank, N.A ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการเงินต่อเนื่องที่อาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบสถาบันการเงิน ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2566 FDIC ขอให้ธนาคารที่สนใจเข้าซื้อกิจการยื่นประมูล ภายในวันที่ 17 มีนาคม 2566 โดยผู้ประมูลที่มีกฎบัตรของธนาคารเท่านั้นถึงจะได้รับอนุญาตศึกษาความเคลื่อนไหวทางการเงินของธนาคารก่อนยื่นข้อเสนอได้

ทั้งนี้ ธนาคารที่เข้าซื้อ SVB ในวันที่ 26 มีนาคม 2566 คือ First Citizen Bank ซึ่งดำเนินการผ่านข้อตกลงเพื่อแบ่งรับภาระส่วนที่เสียหาย (Loss-sharing Agreements) ระหว่าง FDIC กับ First Citizen Bank โดย FDIC ในฐานะผู้ชำระบัญชี (receiver) และ First Citizen Bank จะแบ่งรับส่วนขาดทุนและเงินที่ได้รับคืนจากการชำระสินเชื่อ ทั้ง 2 ฝ่ายได้จัดทำข้อตกลง Loss-sharing Agreement สำหรับสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ (Commercial loan) ระยะเวลา 5 ปี โดยกำหนดให้ FDIC ชำระค่าชดเชยที่อัตราร้อยละ 50 ของผลขาดทุนของ Commercial loan มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปให้แก่ First Citizen Bank ขณะที่ First Citizen Bank จะนำส่งร้อยละ 50 ของเงินที่ได้รับคืนจากการชำระสินเชื่อ (recoveries)
ให้แก่ FDIC[4]  

กรณีปัญหาของ SB

หลังจาก SB ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 FDIC ได้รับการแต่งตั้งเป็น Receiver และได้ประกาศคุ้มครองผู้ฝากทุกรายของ SB เต็มจำนวน อีกทั้ง มีการจัดตั้ง Bridge Bank คือ Signature Bridge Bank, N.A., ที่อยู่ภายใต้ความควบคุมของ FDIC เพื่อรับโอนเงินฝากทั้งหมดจาก SB ต่อมาในวันที่ 13 มีนาคม 2566 FDIC ได้ประกาศให้ผู้ฝากเงินและลูกหนี้สามารถทำธุรกรรมกับธนาคาร Signature Bridge Bank, N.A. ดังนี้ 1) การให้บริการทางออนไลน์ (Online Banking) 2) ATM 3) บัตรเดบิต 4) เช็ค 5) ชำระสินเชื่อ

ทั้งนี้ Flagstar Bank ได้เข้าซื้อกิจการของ SB ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 และรับโอนเงินฝากทั้งหมดของ SB ยกเว้นเงินฝากของภาคธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และพอร์ตสินเชื่อบางส่วนซึ่ง FDIC ในฐานะผู้ชำระบัญชีจะดำเนินการจำหน่ายสินเชื่อดังกล่าวในภายหลัง

 มาตรการเรียกเก็บเงินนำส่งแบบพิเศษ (Special assessment charge)

คณะกรรมการของ FDIC ได้อนุมัติการเรียกเก็บเงินนำส่งแบบพิเศษ (special assessment charge) จาก สง. สมาชิก เพื่อชดเชยผลขาดทุนจากการปิดกิจการ SVB และ SB โดยประเมินมูลค่าขาดทุนสุทธิอยู่ที่ประมาณ 16.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการประกาศคุ้มครองผู้ฝากที่มีเงินฝากเกินวงเงินคุ้มครอง (uninsured deposits) ตามแถลงการณ์ร่วม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Secretary of the Treasury) ประธานกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve Board Chair) และ ประธานกรรมการ FDIC ซึ่งอนุมัติให้ FDIC ดำเนินการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (resolution) กับ SVB และ SB โดยการให้ความคุ้มครองผู้ฝากทุกรายของสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งเต็มจำนวน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการ Systemic Risk Exception เพื่อเสริมสร้างความเชี่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินสหรัฐฯ

FDIC จะเรียกเก็บจาก สง. ทั้งหมด 146 แห่ง ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ (total consolidated assets) ตั้งแต่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไป ในอัตรา 3.36 basis points ต่อไตรมาส (0.000336) โดยเรียกเก็บเพิ่มจากอัตราเงินนำส่งปกติ และใช้ฐานคำนวณจากเงินฝาก uninsured deposits หักด้วยจำนวนเงินฝาก uninsured deposits 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลสิ้นไตรมาส ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) ทั้งนี้ FDIC คาดว่าจะเรียกเก็บ special assessment charge ตั้งแต่ปี 2024 (พ.ศ. 2567) ใช้ระยะเวลาประมาณ
8 ไตรมาส จึงจะสามารถชดเชยส่วนขาดทุนของกองทุนประกันเงินฝาก (Deposit Insurance Fund) ที่เกิดจาก SVB และ SB ได้ นอกจากนี้ ในการคำนวณ special assessment charge สถาบันการเงินสมาชิกจำเป็นต้องจัดทำรายงานประมาณการเงินฝาก uninsured deposit เพิ่มเติมให้แก่ FDIC สำหรับประกอบการคำนวณ

อย่างไรก็ดี ประมาณการมูลค่าขาดทุนสุทธิอาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีการจำหน่ายสินทรัพย์ การชำระหนี้ และกรณีมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการชำระบัญชี (receivership expenses) FDIC จึงขอสงวนสิทธิ์ในการ 1) ยุติการเก็บ special assessment charge ก่อนกำหนด 2) ขยายระยะเวลาในการเรียกเก็บspecial assessment charge เกินกว่า 8 ไตรมาสเพื่อเรียกเก็บส่วนต่างที่เกิดจากผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจริง/ประมาณการผลขาดทุนเทียบกับจำนวนเงินที่เรียกเก็บได้ และ 3) ใช้มาตรการเรียกเก็บเงินนำส่งรวม
ในคราวเดียวทั้งจำนวน (one-time final shortfall special assessment) เพื่อเรียกเก็บส่วนต่างของผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงเทียบกับจำนวนเงินที่เรียกเก็บได้หลังกระบวนการ receivership ของ SVB และ SB สิ้นสุดลง

อนึ่ง FDIC คาดว่าจะเรียกเก็บเงิน special assessment charge งวดรายไตรมาสที่ 1/2567 (ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2567) จากสถาบันการเงิน ในวันที่ 28 มิถุนายน 2567

ผลกระทบและความท้าทายจากปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการคุ้มครองเงินฝากสากล

 FDIC ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบ สง. และคุ้มครองผู้ฝากรายย่อย มีการคุ้มครองเงินฝากแบบรายบัญชีต่อ สง. ภายใต้วงเงินคุ้มครองที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.8 ล้านบาท) ได้พิจารณาตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ ว่าปัญหาดังกล่าวมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบเชิงระบบ สง. (Systemic impact) และได้อาศัยอำนาจ Systemic Risk Exception เพื่อขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นเต็มจำนวนชั่วคราว เพื่อไม่ให้มีการตื่นตระหนกในระบบ สง. เพิ่มเติมและทำให้มีการแห่ถอนเงินจาก สง. อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน หลังจากที่เหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มบรรเทาลงแล้ว FDIC ได้จัดทำผลวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับเสนอแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคุ้มครองเงินฝาก (รายงาน FDIC Options for Deposit Insurance Reform) โดยเสนอแนวทางเกี่ยวกับวงเงินคุ้มครองเงินฝาก 3 รูปแบบ ดังนี้

1) การเพิ่มระดับวงเงินคุ้มครองแบบจำกัดจำนวน (Increase Limited Coverage) : การกำหนดวงเงินคุ้มครองแบบจำกัดจำนวน เป็นการคุ้มครองเงินฝากที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวอาจมีการปรับวงเงินคุ้มครองเงินฝากให้สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อขยายการคุ้มครองให้แก่ผู้ฝากรายใหญ่ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ สง. 3 แห่งข้างต้นประสบปัญหาและถูกสั่งแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ FDIC ได้วิเคราะห์และพบว่า การขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากในรูปแบบนี้จะไม่แก้ไขปัญหาจากการที่ผู้ฝากรายใหญ่แห่ถอนเงินจาก สง. ยกเว้นจะเพิ่มระดับวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นหลายเท่า ซึ่งจะมีความคุ้มค่าทางการเงินและประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงที่น้อยที่สุด

2) การกำหนดระดับวงเงินคุ้มครองแบบไม่จำกัดจำนวน (Unlimited Coverage) : การกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากแบบไม่จำกัดจำนวนจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการแห่ถอนเงินฝาก แต่จะทำให้ สง. ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงในการดำเนินงาน อีกทั้งยังมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเพียงพอของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก (Deposit Insurance Fund : DIF) ซึ่งคาดว่าจะต้องเพิ่มขนาดอีกประมาณร้อยละ 70-80 ของจำนวนในปัจจุบัน และจะมีผลกระทบต่อจำนวนเงินนำส่งที่จะเรียกเก็บจาก สง. สมาชิกเช่นกัน

3) การกำหนดวงเงินคุ้มครองที่แตกต่างกันตามแต่ละประเภทของบัญชี (Targeted Coverage) :

การกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากในรูปแบบนี้ จะเป็นการใช้วงเงินคุ้มครองแบบจำกัดจำนวนเป็นตัวตั้งต้น แต่จะเพิ่มการคุ้มครองให้แก่บัญชีเงินฝากที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจ (Business payments accounts) ซึ่งคาดว่าจะมีผลประโยชน์ต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบ สง. อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายในการตรวจสอบความแตกต่างระหว่างบัญชี Business payments accounts และบัญชีเงินฝากทั่วไป รวมถึงแนวทางป้องกันไม่ให้ผู้ฝากใช้บัญชีแบบผิดประเภทเพื่อที่จะได้วงเงินคุ้มครองเงินฝากที่สูงขึ้น

โดยสรุป FDIC มีความเห็นว่า วงเงินคุ้มครองที่แตกต่างกันตามแต่ละประเภทของบัญชี (Targeted Coverage) เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาเสถียรภาพเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายและผลกระทบอื่น ๆ ต่อระบบการเงิน แต่ยังมีความท้าทายในเชิงปฏิบัติการ (Operations) เช่น การกำหนดความแตกต่างระหว่างบัญชีเงินฝากทั่วไปกับบัญชี Business payments accounts เป็นต้น อย่างไรก็ดี FDIC ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม จึงต้องมีการติดตามสถานการณ์ต่อไป

จากกรณีปัญหา สง. ในสหรัฐอเมริกา ก่อนให้เกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้าง โดยสมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศ (International Association of Deposit Insurers: IADI) ในฐานะหน่วยงานที่เป็นกําหนดมาตรฐานสากล หลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล (Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems) ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ถึงนัยยะ (implications) ที่อาจเกิดขึ้น และประเด็นเชิงนโยบายที่เกิดใหม่ที่มีผลต่อระบบประกันเงินฝาก จากปัญหาทางการเงินในสหรัฐอเมริกา โดยครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่เกิดจากเงินฝากส่วนที่เกินวงเงินคุ้มครอง และความเพียงพอของวงเงินคุ้มครองเงินฝาก แหล่งเงินทุน และแหล่งเงินทุนฉุกเฉิน การใช้เครื่องมือแก้ไขปัญหา สง. ที่สนับสนุนการดำเนินการหลักของธนาคารได้โดยไม่หยุดชะงัก และเพื่อให้ผู้ฝากสามารถเข้าถึงเงินฝากได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ IADI ยังมองว่าปัญหาการเงินในสหรัฐอเมริกาเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน (financial safety-net) ที่มีประสิทธิภาพในการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการกำหนดและดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา สง.

 

ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาที่มีต่อการคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทย

จากปัญหากรณีการปิดกิจการของ SVB และ SB ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน การรับมือกับปัญหาอย่างรวดเร็ว ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงินในระยะสั้น โดยการที่ Fed และธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ เข้ามาดูแลสภาพคล่องของระบบได้อย่างรวดเร็วจะช่วยยับยั้งไม่ให้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกเหมือนเช่นวิกฤตซับไพร์ม รวมถึงการประกาศคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากที่มีเงินฝากกับ SVB และ SB แบบเต็มจำนวนก็ถือเป็นเครื่องมือในการบรรเทาความวิตกกังวลของประชาชนได้ อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐได้ออกมาตรการ Bank Term Funding Facility (BTFT) มูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเข้ามาดูแลปัญหาสภาพคล่องที่อาจจะเกิดกับธนาคารอื่น ๆ ด้วย  

จากสถานการณ์ข้างต้น สถาบันได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องถึงปัญหา สง. ในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงผลกระทบต่อระบบ สง. ไทย และได้มีการสื่อสารกับสาธารณชนผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อลดความตื่นตระหนกและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนต่อระบบสถาบันการเงิน โดยสถาบันได้ให้ความสำคัญในการสื่อสารเรื่องการดูแลเสถียรภาพของระบบ สง. ที่มีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างความรู้เรื่องการคุ้มครองเงินฝากของประเทศไทยควบคู่ไปด้วย

แม้ผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับ SVB และ SB ที่มีต่อระบบสถาบันการเงินไทยอยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ดี การมีมาตรการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะการขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการเงิน เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยป้องกันการลุกลามจนกลายเป็นปัญหา Systemic ได้ เมื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการมีหากเปรียบเทียบอำนาจหน้าที่ระหว่าง FDIC และสถาบันคุ้มครองเงินฝากไทย พบว่า FDIC นั้นมีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองเงินฝากที่มีอำนาจในการใช้มาตรการ Systemic Risk Exception เพื่อขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นเต็มจำนวนชั่วคราว และสามารถเรียกเก็บ special assessment charge จาก สง. สมาชิกได้เพื่อชดเชยส่วนขาดทุนที่เกิดขึ้นกับกองทุนประกันเงินฝาก อีกทั้ง FDIC ยังสามารถแก้ไขปัญหา สง. ในวิธีที่หลากหลายเมื่อ สง. ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไม่ว่าจะเป็น การทำ Purchase & Assumption[5] การจัดตั้ง Bridge Bank เพื่อสรรหาผู้เข้ารับซื้อสินทรัพย์และหนี้สินของ SVB และ SB รวมถึงแบ่งรับภาระส่วนที่เสียหายกับ สง. ที่เข้ารับซื้อ ซึ่งจะแตกต่างจากบทบาทหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากไทยที่มีบทบาทหน้าที่ เฉพาะการจ่ายคืนผู้ฝากและชำระบัญชีเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ สถาบันจะนำบทเรียนจากเหตุการณ์ข้างต้นไปดำเนินการเพิ่มเติมในมิติต่าง ๆ อาทิ การศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน และลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อระบบสถาบันการเงินประสบปัญหา การศึกษาเปรียบเทียบอำนาจในการดำเนินการของ FDIC กับบทบาทหน้าที่ที่สถาบันสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน และการติดตามแนวทางอื่น ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและมาตรการอื่น ๆ ในการลดความตื่นตระหนกและผลกระทบที่มีต่อระบบสถาบันการเงินในระดับสากลเพิ่มเติม อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทยให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน อันจะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินต่อไป

[1]ที่มา: Summary and analysis of Consolidated Reports of Condition and Income (Call Report) data for Signature Bank of New York (SBNY)
[2]มาตรการ Systemic Risk Exception หมายถึง มาตรการที่ยกเว้นการใช้หลักการต้นทุนที่น้อยที่สุดในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน
(Least-Cost Resolution: LCR) โดยใช้เมื่อเหตุที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด 5 ประการได้แก่ (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยที่ได้ปรึกษากับประธานาธิบดีสหรัฐฯและตามที่ได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากกรรมการ FDIC และ Fed อย่างน้อย 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด ระบุว่าการแก้ไขปัญหาด้วย LCR “อาจเกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสภาพเศรษฐกิจหรือเสถียรภาพทางการเงิน” และการดำเนินการของ FDIC อาจหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ได้ (2) FDIC จะต้องมีการเรียกเก็บเงินนำส่งแบบพิเศษ (Special assessment) จากสถาบันการเงินเพื่อชดเชยส่วนขาดทุนที่เกิดขึ้น โดยในการประมาณการเงินนำส่ง special assessment นั้น FDIC ไม่จำเป็นต้องคำนวณตามการคำนวณเงินนำส่งตามปกติ และอาจพิจารณาถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมธนาคาร
(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องบันทึกผลการตัดสินใจเป็นเอกสาร (4) สำนักงานตรวจสอบอิสระของรัฐสภาสหรัฐฯ (The Government Accountability Office :GAO) จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้น (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องแจ้งรัฐสภาสหรัฐฯ (congressional committees of jurisdiction) ภายใน 3 วัน (ที่มา: https://sgp.fas.org/crs/misc/IF12378.pdf)
[3] Bridge Bank เป็นการจัดตั้งสถาบันการเงินชั่วคราวเพื่อรับโอนหนี้สินและสินทรัพย์ จนกว่าจะมีสถาบันการเงินอื่นที่สนใจมารับช่วงต่อกิจการด้วยวิธีการนี้สินทรัพย์บางส่วนจะถูกโอนไปยัง Bridge Bank ในขณะที่สินทรัพย์ส่วนที่เหลือจะผ่านกระบวนการพิทักษ์ทรัพย์หรือชำระบัญชีต่อไป อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐอาจมีส่วนในการบริหารจัดการ Bridge Bank หรืออาจให้ความช่วยเหลือแก่ Bridge Bank ในด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น
[4] ที่มา:https://www.sec.gov/Archives/edgar/data/798941/000119312523079743/d488575d8k.htm
[5] Purchase and Assumption (P&A) เป็นวิธีการที่ดำเนินการเมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการแล้ว สินทรัพย์และหนี้สินของสถาบันการเงินทั้งหมดหรือบางส่วนจะถูกโอนไปยังสถาบันการเงินที่รับซื้อ แม้วิธีการนี้จะถือเป็นการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินโดยภาคเอกชน แต่ในบางกรณีอาจจะต้องมีความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลประกอบกัน

โดย: ฝ่ายวางแผนและวิจัย

ปรับปรุงล่าสุด 2 เม.ย. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม