วิวัฒนาการด้านการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน

นวัตกรรมทางดิจิทัลนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลทางการเงินยังมีผลต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (resolution) และการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (resolution planning) โดยคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ (Financial Stability Board: FSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดมาตรฐานเสถียรภาพของสถาบันการเงินในระดับสากลได้แนะนำว่า หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่แก้ไขปัญหาสถาบันการเงินอาจพิจารณานำเทคโนโลยี เช่น cloud services มาใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินให้มีความต่อเนื่อง (operation continuity) รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน หรือ Resolution Technology/ResTech (Technologies for Resolution Preparedness) เพื่อรองรับกระบวนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (Resolution Plan) ก็ถือเป็นแนวทางที่หน่วยงานแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินควรนำไปพิจารณาเพื่อยกระดับการดำเนินงานในภาคการเงินยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ยังยกประเด็นถึงความแพร่หลายของบริษัท FinTech โดยเฉพาะผู้ที่จำหน่ายสกุลเงินดิจิทัล หรือ Crypto Assets ประเภทอื่น ๆ และผู้ให้บริการเกี่ยวกับ Crypto Assets ซึ่งหากประสบปัญหา อาจเกิดผลกระทบต่อระบบ (systemic) ด้วยเหตุนี้ จึงควรพิจารณาถึงนัยของการดำเนินธุรกรรมของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับ Crypto Assets ต่าง ๆ ที่มีต่อการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในอนาคต

พัฒนาการด้านการดำเนินงานของหน่วยงานประกันเงินฝากต่างประเทศ

นอกเหนือจากการปรับนโยบายการประกันเงินฝาก กรอบและแนวทางการกำกับดูแลทางการเงิน รวมถึงกรอบและแนวทางการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และลดผลกระทบจากปัจจัยความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ หน่วยงานประกันเงินฝากอาจใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าวเพื่อยกระดับการปฏิบัติการของหน่วยงานให้ทันสมัย เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หน่วยงานประกันเงินฝากในสหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อพัฒนาองค์กรและกระบวนการดำเนินการตามพันธกิจ ดังต่อไปนี้

1) การผลักดันองค์กรให้เข้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation)—กรณีศึกษาสถาบันประกันเงินฝากมาเลเซีย 

สถาบันประกันเงินฝากมาเลเซีย (PIDM) มุ่งผลักดันองค์กรให้เข้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) ภายในแผนกลยุทธ์ระยะ 5 ปี สำหรับปี 2565-2569 โดยมีเป้าประสงค์ 3 ประการ คือ

(1) การปรับเปลี่ยนองค์กรภายในให้มีความยืดหยุ่น เกิดผลิตภาพ สร้างความร่วมมือ และสร้างวัฒนธรรมการขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล

(2) การสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินสมาชิกในการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นดิจิทัล และ

(3) การพัฒนาด้านการติดต่อสื่อสารกับผู้ฝากและหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและพัฒนากระบวนการจ่ายคืนผู้ฝากให้ไร้รอยต่อ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน (ResTech : Technologies for Resolution Preparedness) และการพัฒนาช่องทางการจ่ายคืนผู้ฝาก โดยใช้ระบบการชำระเงินแบบทันที (real-time)

อนึ่ง นอกจากจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และระบบงานที่มีความทันสมัย PIDM ยังได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะด้านดิจิทัล เปิดรับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล

2) การปรับปรุงกระบวนการจ่ายคืนผู้ฝากและการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจากภาวะการระบาดของ COVID-19—กรณีศึกษาสถาบันประกันเงินฝากฟิลิปปินส์

จากภาวะการระบาดของ COVID-19 กระทบต่อการดำเนินงานของทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานประกันเงินฝาก โดยสถาบันประกันเงินฝากฟิลิปปินส์ (PDIC) ได้ปรับช่องทางการจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝาก จากเดิมที่จ่ายคืนผ่านทางเช็ค และการจ่ายเงินสด ณ ที่ทำการ เป็นการจ่ายคืนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) โดยโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากของผู้ฝากที่เปิดกับสถาบันการเงินอื่น และขอความร่วมมือจากผู้ออกเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money issuer) ในการโอนเงินเข้าบัญชี

นอกจากนี้ PDIC ยังได้ปรับปรุงกระบวนการจำหน่ายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินทรัพย์ออนไลน์ หรือ e-Bidding Portal เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูลซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินสามารถร่วมประมูลได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการและพัฒนาระบบประกันเงินฝากของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


โดย: ฝ่ายวางแผนและวิจัย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ปรับปรุงล่าสุด 10 เม.ย. 2567

สงวนสิทธิ์โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

บทความอื่นๆ

ดูเพิ่มเติม