‘อยู่กับปัจจุบัน’
ถ้อยคำข้างต้นอาจเป็นแนวทางที่หลายคนเลือกใช้เพื่อกำกับทิศทางในการทำงานและการใช้ชีวิต แต่หลังจากการพูดคุยกับ ดร.มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ผมกลับรู้สึกว่าประโยคที่เหมาะสมกว่ากับการทำงานและชีวิตของพวกเขาคือ ‘อยู่กับอนาคต’
ด้วยบทบาทสำคัญของ DPA ที่เป็นไปตามชื่อ นั่นคือทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้กับผู้ที่ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง อาทิ แบงค์พาณิชย์ต่างๆ และทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตหากเกิดเหตุสถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการ พวกเขามีหน้าที่เข้าไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับผู้ฝากที่ได้รับผลกระทบ
.
ลำพังบทบาทหน้าที่หลักก็หนักหนาและท้าทาย หากแต่ในวันที่ปัญหายังเดินทางมาไม่ถึง และไม่รู้ว่าปัญหาในวันหน้าจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน วิกฤตที่กำลังคืบคลานไม่มีใครเห็นว่าหน้าตาเป็นยังไง สิ่งที่พวกเขาต้องทำในปัจจุบันก็คือเตรียมวันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อเป็นที่พึ่งให้กับผู้ฝากเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันที่อาจมาเยือนในอนาคต
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของประเทศ มีผู้ที่ได้รับความคุ้มครองจากสิ่งที่พวกเขาทำหลักล้านชีวิต ยามสถาบันการเงินในประเทศเผชิญกับความเสี่ยงถึงขั้นสถาบันการเงินนั้นถูกปิดกิจการ พวกเขาคือหน่วยงานแรกๆ ที่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการบรรเทาปัญหา แต่คนส่วนใหญ่ก็แทบไม่รู้จักว่า DPA คือใคร ไม่รู้ว่าประเทศไทยมีระบบคุ้มครองเงินฝาก ไม่รู้ว่าระบบคุ้มครองเงินฝากมีความสำคัญยังไง
บทสนทนากับ ดร.มหัทธนะ ในสำนักงานของ DPA ย่านวิภาวดี จึงตั้งใจบอกเล่าถึงแนวคิดการทำงานและการปรับตัวให้เท่าทันต่อโลกขององค์กรที่อาจไม่ถูกมองเห็นในสถานการณ์ปกติ แต่ยามวิกฤตพวกเขาคือความหวังของผู้คน
ค่อนข้างเปลี่ยนไปพอสมควร ย้อนกลับไปตอนก่อนเข้ามาทำงานที่ DPA ผมอาสาเข้ามา ผมอยากทำงานที่นี่ เพราะผมมองว่า DPA เป็นหน่วยงานที่สำคัญในระบบสถาบันการเงิน เป็นหน่วยงานที่มีส่วนช่วยเหลือประชาชน สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชน หรือพูดง่ายๆ ก็คือสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพียงแต่ว่าหลายๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก ก่อนรับตำแหน่งผมรู้ว่าหลักๆ แล้วหน้าที่ของ DPA มีอยู่ 3 อย่าง หนึ่ง–คุ้มครองเงินฝาก ให้กับผู้ฝากเงินหากสถาบันการเงินถูกปิดกิจการ สอง–ดูแลจัดการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ และสาม–ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้ระบบสถาบันการเงิน
ก่อนเข้ามาผมคิดว่า DPA เป็นองค์กรที่ไม่น่าจะมีความ dynamic และซับซ้อนมาก เนื่องจากงานพันธกิจของ DPA ค่อนข้างชัดเจน และจะเริ่มดำเนินการก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงินปิดกิจการเท่านั้น แต่พอเข้ามาผมเห็นว่าการที่จะสามารถทำได้ตามพันธกิจที่เราได้รับมอบหมายจากรัฐให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีอะไรที่ต้องเตรียม ต้องดำเนินการ ต้องวิเคราะห์ ต้องศึกษา ต้องประสานงานมากมาย พอผมได้เริ่มทำงาน ได้สัมผัสกับผู้บริหารและพนักงาน พูดคุยกับหลายท่านที่อยู่ที่นี่ พบว่าระหว่างที่เรายังไม่ได้ activate งานตามพันธกิจ DPA เรามีการเตรียมงานและเตรียมความพร้อมมากมายหลายด้าน เพื่อให้บรรลุบทบาทหน้าที่ตามความรับผิดชอบ และตามเป้าหมายที่องค์กรถูกจัดตั้งขึ้น
ผมมองว่าหน้าที่และเป้าหมายของ DPA ยิ่งใหญ่ไม่แพ้หน่วยงานอื่นๆ หนึ่งในหน้าที่ของผมก็ต้องทำให้ทุกคนใน DPA และคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ฝากเงินส่วนใหญ่เข้าใจและรับรู้ในบทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของ DPA นี้
เรามีสิ่งที่ต้องเตรียมการเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องการสร้าง awareness เติมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก ให้เป็นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นสำหรับผู้ฝากและประชาชนทุกกลุ่ม ให้คนรู้ว่าเงินฝากที่ผู้ฝากฝากไว้กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 32 แห่งนั้น มีหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะคุ้มครองเงินฝากให้พวกเขานะ ช่วยสร้างความมั่นใจอีกระดับหนึ่งให้กับผู้ฝากในการนำเงินไปฝากไว้กับธนาคาร รวมทั้งเราต้องมีการให้ความรู้พื้นฐานทางด้านการเงิน การบริหารเงิน การให้ความสำคัญของการออมอีกด้วย
ประเด็นถัดมา ถ้าหากวันนึงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด สถาบันการเงินมีปัญหาจนถึงขั้นถูกสั่งปิดกิจการ DPA มีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศให้ทันท่วงที หลายคนอาจไม่รู้ว่าประเทศของเราสามารถคุ้มครองได้ถึงกว่าร้อยละ 98 ของจำนวนรายผู้ฝาก ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าในหลายๆ ประเทศ โดยการจ่ายเงินคุ้มครองคืนให้ผู้ฝากนี้เราจะจ่ายให้กับผู้ฝากให้ได้เร็วที่สุด ภายใต้วงเงินที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองคือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ บทบาทหน้าที่ของ DPA เหมือนเป็นการห้ามเลือดแบบเฉียบพลัน เพื่อหยุดการลุกลามของปัญหาไม่ให้เกิด domino effect ที่คนจะพากันตื่นตระหนก แล้วแห่ไปถอนเงินทำให้แม้แต่กับธนาคารที่ไม่ได้เกิดปัญหาก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย จนเกิดเป็นปัญหา bank run ซ้อนขึ้นมาอีก
ทุกวันนี้ DPA ต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายเรื่องมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการจ่ายเงินคุ้มครอง เพื่อให้มีทั้งความปลอดภัยและรวดเร็ว เรื่องการรับส่งข้อมูลระหว่าง DPA กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 32 แห่ง การเตรียมขั้นตอนการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิดกิจการ
นอกจากนี้ เรายังทำหน้าที่บริหารเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ที่เป็นเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองอีกด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของเงินกองทุนนี้ก็เป็นเงินสะสมที่เอาไว้ใช้คุ้มครองผู้ฝากหากเกิดเหตุสถาบันการเงินถูกสั่งปิดกิจการนั่นเอง